ภาษาไทย

บริการกายภาพบำบัดด้วย เครื่องมือทางกายภาพ

เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)
เครื่องอัลตราซาวด์ เป็นการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียงความถี่สูง โดยเครื่องนี้จะเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานความร้อน ส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นลึก โดยผ่านตัวกลาง ซึ่งก็คือ เจลอัลตราซาวด์ สามารถลดอาการปวดและอักเสบได้ทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยปรับเลือกคลื่นให้ออกแบบต่อเนื่องหรือเป็นช่วง และยังสามารถปรับระดับความเข้มได้ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกอุ่นเล็กน้อยหรือปวดเล้กน้อยเมื่อคลื่นเคลื่อนผ่านบริเวณจุดกดเจ็บ

รักษาในกลุ่มโรค

  • ออฟฟิศซินโดรม จุดกดเจ็บบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก
  • ปวดหลังและสะโพก
  • ข้อไหล่ติด
  • นิ้วล็อค
  • ปวดเข่าและข้อเท้า

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

ข้อห้าม
1. บริเวณ เนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็ง
2. บริเวณที่มีอาการปวด แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอาการปวดนั้นเกิดจากสาเหตุใด
3. ส่วนของเนื้อเยื่อร่างกายที่ได้รับการฉายรังสี
4. บริเวณที่มีการฝังโลหะ พลาสติก
5. บริเวณหลังส่วนล่าง และบริเวณท้องของสตรีมีครรภ์
6. บริเวณข้อต่อในเด็กที่ยังไม่หยุดเจริญเติบโต
8. บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
9. บริเวณหัวใจ และบริเวณใกล้เคียงหัวใจ ในผู้ที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
10. บริเวณเหนือต่อตำแหน่งที่มีลิ่มเลือด หรือก้อนเลือดที่อยู่ในหลอดเลือด

ข้อควรระวัง
1. ผู้ที่มีการรับรู้ความรู้สึกผิดปกติ
2. บริเวณที่มีกระดูกหัก และยังไม่ประสาน ควรใช้ความเข้มต่ำในการใช้อัลตราซาวด์
3. บริเวณใกล้เคียงที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านม

การขยับ ดัด ดึงข้อต่อ (Mobilization)
การให้แรงด้วยอัตราเร็วน้อยและมีช่วงกดที่ยาวลึกลงต่อกระดูกสันหลังและข้อต่อในช่วงการเคลื่อนไหวปกติ (McKenzie 1989) โดยทำซ้ำย้ำตรงจุดที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของข้อต่อ กล่าวคือ “เป็นการเคลื่อนไหวแบบนุ่มนวลเป็นจังหวะซ้ำๆในช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อบริเวณนั้นๆ”
กลไกและประโยชน์
1. ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อต่อ เกิดการทำลายการยึดเกาะของเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้น้อยให้เกิดการจัดเรียงตัวใหม่ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างที่ถูกยืด
2. กระตุ้นการทำงานของเซลล์เพื่อเพิ่มอัตราการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ
3. ทำให้เกิดความร้อนภายในเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อมีความอ่อนนุ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้นักกายภาพบำบัดสามารถยืดเนื้อเยื่อในเทคนิคอื่นๆหลังการทำ Mobilization ได้ง่ายขึ้น
4. ลดความเจ็บปวดของข้อต่อเนื่องจากการผ่อนคลายความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
ข้อบ่งชี้
1. มีความเจ็บปวดของข้อต่อ
2. ภาวะข้อต่อติดขัด

การยืดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercise)
ประโยชน์

  • เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับข้อต่อรวมถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยพัฒนาความยืดหยุ่นหรือความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย หรือลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการยึดของเอ็น ข้อต่อ และ กล้ามเนื้อ

หลักปฏิบัติทั่วไปในการยืดกล้ามเนื้อ

  • ควรทำการยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำทุกวัน หรือ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  • ควรทำการยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังทำการออกกำลังกายทุกครั้ง
  • ควรทำการผ่อนคลายส่วนที่กำลังยืด
  • ควรทำการยืดกล้ามเนื้อจนกระทั่งถึงจุดที่รู้สึกตึง แล้วหยุดนิ่งค้างไว้ประมาณ 10 – 15 วินาที
  • ไม่กลั้นลมหายใจในขณะทำการยืดกล้ามเนื้อ
  • ไม่ควรเคลื่อนไหวในลักษณะกระตุก กระชาก ในขณะทำการยืดกล้ามเนื้อ
  • ควรจัดท่าทางในการยืดกล้ามเนื้อในแต่ละท่าให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการยืดกล้ามเนื้อสูงสูด